การเอาตัวรอด จากอากาศยานประสบเหตุ

การเอาตัวรอด จากอากาศยานประสบเหตุ

เหตุการณ์เครื่องเฮลิคอปเตอร์สัญชาติไทยตกในประเทศพม่า และต่อมานักบินรอดชีวิตนั่น ควรเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้เกี่ยวขัองทางการบินทุกคน ทั้งที่เป็นนักบิน, ช่างอากาศยาน และผู้ที่ทำงานในสายงานการบิน ได้ฉุกคิดและหันกลับมาทบทวนการเตรียมตัวต่อเหตุไม่คาดฝันทางการบินที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ในขณะที่อากาศยานกำลังบินอยู่นั้น โดยส่วนมากมีความปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอันตรายทุกวินาทีเช่นกัน แน่นอนที่มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับปีกหรือบินเองไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาเครื่องจักรที่จะพาเราบินไปยังที่ต่างๆ แต่เครื่องจักรก็มีโอกาสชำรุดและเกิดปัญหาขึ้นได้เสมอ ปัญหาที่ว่านี้อาจจเกิดขึ้นในขณะที่เราอยู่บนลานบิน หรือหาที่ปลอดภัยร่อนลงจอดได้ อย่างดีก็คือเราสามารถออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างปลอดภัย หรืออาจจะเกิดขึ้นในเวลาที่แย่ที่สุด ขณะกำลังบินอยู่ในป่าหรือสภาพอากาศเลวร้าย ในระหว่างที่เครื่องบินอยู่ไม่ห่างจากพื้น

นักบินทั้งที่มีประสบการณ์สูง หรือเพิ่งจะเริ่มบินก็สามารถจะหลงสถานที่เพราะอากาศแปรปรวน, ความมืดและสภาพภูมิประเทศ เป็นเหตุให้เสียการควบคุมและตก หรือต้องร่อนลงฉุกเฉินอย่างรุนแรง ผมขอเล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กับนักบินผู้ไม่ชำนาญพื้นที่ ทำการบินด้วยทัศนวิสัยจากการมองเห็น Visual Flight Rule = VFR บินต่ำกว่าฐานเมฆและเหนือร่องเขา และพยายามบินผ่านเทือกเขา โดยมารู้ตัวอีกทีเมื่อมาเจอกับภูเขาสูง จึงพยายามบินขึ้นไปหาเมฆ แต่ร่องเขาที่บินอยู่ในขณะนั้นแคบมาก เขาพยายามบินกลับเข้าเส้นทางเดิม ปรากฏว่าเครื่องบินพุ่งชนเข้ากับไหล่เขา (เราทำการบินค้นหาและพบร่างไร้วิญญาณของนักบินคนนี้ในวันรุ่งขึ้น)


เฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ขณะบินค้นหาที่เกิดเหตุ

ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉลี่ยอุบัติทางอากาศยานจากเครื่องบินพลเรือน มีประมาณ 1,500 เหตุต่อปี ปีที่ผ่านมาสถิติแสดงให้เห็นชั่วโมงบินของเฮลิคอปเตอร์ประมาณ 1.8 ล้านชั่วโมง เกิดอุบัติเหตุทางอากาศยานแล้วถึง 140 ครั้ง จากอุบัติเหตุทั้งหมด 29 กรณีพบผู้เสียชีวิต 75 คน อีก 28 คนบาดเจ็บสาหัสและอีก 40 คนบาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น

จะมีนักบินสักกี่คนคิดวางแผนก่อนหากว่าอาจต้องพบเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน นักบินฝึกขั้นตอนการปฎิบัติกรณีเหตุฉุกเฉินอยู่เป็นประจำ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระหว่างทำการบิน แต่จะมีนักบินกี่คน ที่ฝึกหรือเตรียมตัวมากกว่าการฝึกร่อนลงฉุกเฉิน แต่เตรียมพร้อมหากจะต้องดำรงชีพในพื้นที่เกิดเหตุนั่นเองด้วย

การมุ่งมั่นเอาชีวิตรอด Decide to Survive

นักบินและผู้อยู่บนอากาศยาน ควรเตรียมพร้อมและตั้งรับการลงจอดแบบไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ผู้ประสบเหตุทางอากาศยานที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ตามสถิติแล้วจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 50% ภายในห้วงเวลา 72 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดเหตุ และสถิติที่น่าสนใจต่อมาคือ เวลาเฉลี่ยในการค้นหาอากาศยานประสบเหตุ ซึ่งนักบินไม่ได้ส่งแผนการบิน พบเฉลี่ยอยู่ที่ 62.5 ชั่วโมง หลังจากได้รับการรายงานอากาศยานสูญหาย

การจัดทำแผนการบิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งต่อมาคือการบินให้ได้ตามแผนที่วางไว้ สำหรับภารกิจของเฮลิคอปเตอร์ทางทหารและเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ในระหว่างการบินอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแผนที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และอากาศในขณะเข้าทำการช่วยเหลือ แต่การสื่อสารไปยังหน่วยงานต้นสังกัด, อากาศยานหรือสนามบินที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการค้นพบอากาศยานที่ตกได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่ควรส่งต่อ ควรจะรวมถึงพิกัดปัจจุบันและพิกัดปลายทางบางครั้งการแจ้งระยะห่างจากสถานีวิทยุช่วยการเดินอากาศ (VOR) หรืออย่างน้อยการแจ้งสภาพพื้นที่ของเส้นทางบินที่กำลังบินอยู่

GPS Tracking System on Helicopter

ทิ้งแผนการบินไม่กับผู้ที่เกี่ยวข้องบนภาคพื้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ถ้าคุณเป็นตำรวจหรือทหารหรือแม้แต่พลเรือน ก็ควรทิ้งแผนการบินไว้กับคนที่จะสามารถแจ้งข่าวไปยังผู้บังคับบัญชา หากไม่ได้รับการติดต่อภายในเวลาที่คาดการณ์เอาไว้

ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเรียกกันว่า “Drop dead time” ถ้าคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับการติดต่อจากนักบินตามเวลาที่สมควร เขาจะพยายามติดต่อกลับไปทันที และสิ่งที่ควรทำทุกครั้งคือตรวจเช็คและทดสอบ เครื่องส่งสัญญาณแจ้งพิกัดดาวเทียมขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ ELT (Emergency Locator Transmitter) ก่อนทำการบินอยู่เสมอว่า ยังทำงานได้ตามปกติ

เมื่อร่อนลงพื้นได้แล้ว จะทำอะไรต่อไป You Made It To The Ground, Now What?

  1. ออกจากอากาศยานประสบเหตุให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก คุณจะต้องมั่นใจว่าใบพัดหลักและใบพัดหางหยุดหมุน ก่อนที่จะพยายามเอาตัวออกมาจากเฮลิคอปเตอร์นั่น
  2. อย่าลืมนำกระเป๋าหรือเป้อุปกรณ์ยังชีพติดตัวมาด้วย (ผมจะแนะนำว่าในนั่นควรมีอะไรบ้างต่อไป)
  3. พยายามอย่าตกใจแต่ให้คิด มองไปรอบๆ และหายใจลึกๆ พยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้
  4. นับจำนวนผู้โดยสารและผู้ที่เดินทางมาด้วย เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตรวจดูว่าทุกคนออกมาจากอากาศยานอุบัติเหตุครบแล้ว
  5. ออกห่างจากอากาศยานนั้น จนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยและสามารถเข้าใกล้ได้อีกครั้ง

ประเมินสถานการณ์ Size Up The Situation

แต่ละสถานการณ์ย่อมต่างกันไป คุณอาจจะโชคดีร่อนลงใกล้กับที่ที่มีคนเห็นเครื่องบินตกเข้าพอดี และช่วยโทรแจ้งให้คนมาช่วย หรือหากไม่มีใครคุณจะต้องวิทยุหรือติดต่อไปแจ้งภาวะฉุกเฉินเอง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว หากคุณอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น ในป่า หรือที่ห่างไกลผู้คน การช่วยเหลือก็จะใช้เวลายาวนานขึ้นเป็นชั่วโมงหรือนานกว่านั้น…

หากต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้ คุณควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งต่อไปนี้

  1. อุปกรณ์สื่อสารขอความช่วยเหลือเปิดอยู่, ใช้งานได้และทำงานอยู่หรือไม่
  2. อุปกรณ์หรือเครื่องมืออะไร ที่คุณมีติดตัว
  3. สภาพพื้นที่เป็นอย่างไร คุณกำลังอยู่ในร่องเขา, ป่าทึบ, ป่าพรุ, บึงน้ำ, เขื่อน หรือที่ไหน
  4. คุณและผู้โดยสาร มีทักษะและความสามารถอะไรบ้างในยามฉุกเฉิน

ในการดำรงชีพ มี 5 ปัจจัยหลักที่คุณต้องคำนึงถึง

  1. เวชภัณฑ์ และการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ
  2. น้ำดื่ม และการทำให้น้ำดื่มได้
  3. ที่หลบและกำบัง
  4. ขอความช่วยเหลือจากภายนอก
  5. อาหาร

เวชภัณฑ์ และการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ – ในบางครั้งคุณอาจจะขาดแคลน หรือมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลอย่างจำกัด และอาจจะต้องใช้การแสวงเครื่องขึ้นเอง

  1. ให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยตรวจดูว่าทางเดินหายใจยังปกติ และยังหายใจได้
  2. ทำการห้ามเลือดหากมีบาดแผล
  3. หากพบบาดแผลที่แขนและขา ซึ่งเลือดออกรุนแรงจากเส้นเลือดใหญ่ ให้ใช้สายรัดห้ามเลือด รัดเหนือบาดแผลทันที
  4. สร้างความอบอุ่นให้ผู้บาดเจ็บ ป้องกันอุณหภูมิในร่างกายตกอย่างรุนแรงจากการบาดเจ็บ (hypothermic) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องทำให้ร่างกายของผู้บาดเจ็บอุ่นอยู่เสมอ แม้ว่าประเทศไทยจะมีภูมิอากาศร้อนชื้นก็ตาม ผู้บาดเจ็บก็สามารถเสียการควบคุมอุณหภูมิปกติของร่างกายได้ ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้บาดเจ็บซึ่งอุณหภูมิในร่างกายลดลงถึง 35 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า มีโอกาสเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
  5. เช็คร่างกายผู้บาดเจ็บโดยรอบอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีบาดแผลที่อาจมองข้ามไป จากบาดแผลฉกรรจ์ที่มีอยู่ เช่น กระดูกหักที่แขนและขา ซึ่งบาดแผลดูรุนแรง อาจทำให้เรามัวสนใจอยู่ที่แผลนั่นจนไม่ตรวจเช็คจุดอื่นๆ

น้ำ – เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการยังชีพ ร่างกายคนเราจะอ่อนแอหากขาดอาหาร แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่เราขาดน้ำไม่ได้…

  1. นำน้ำดื่มไปด้วย ก่อนทำการบินทุกครั้ง
  2. เตรียมน้ำไว้ในเป้หรือกระเป๋ายังชีพ และมองหาวิธีที่จะทำให้น้ำสะอาดเพื่อสามารถดื่มได้ เพราะจะแบกน้ำไปเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ

ที่หลบและกำบัง – ที่กำบังในช่วงอากาศแปรปรวน อาจจะใช้ส่วนของเครื่องบินนั่นเองเป็นที่หลบภัยชั่วคราว มองหาที่กำบังใกล้เคียง เช่น ถ้ำ, ช่องระหว่างก้อนหิน หรือหากจำเป็นก็ควรทำที่กำบังขึ้น และหวังว่าในระหว่างปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่การปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บ, เตรียมน้ำดื่ม, หาที่หลบและกำบัง ความช่วยเหลือจกภายนอกอาจกำลังใกล้เข้ามาแล้วก็ได้

ขอความช่วยเหลือจากภายนอก – อย่าลืมตรวจเช็คว่า เครื่องส่งสัญญาณแจ้งพิกัดดาวเทียมขอความช่วยเหลือฉุกเฉินเปิดและทำงานอยู่ เครื่องส่งสัญญาณขอตความช่วยเหลือส่วนบุคคล Personal Locator Beacons (PLB) เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักผจญภัย และนักปืนเขา PLB ทำงานคล้ายๆกับ GPS โดยจะส่งสัญญาณแจ้งพิกัดปัจจุบันเมื่อเปิดใช้งาน บางรุ่นสามารถส่งข้อความตอบโต้ไปยังศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือ หรือส่งข้อความไปยังครอบครัวของผู้ประสบภัยที่ได้ตั้งค่าไว้แล้วได้ด้วย โดยมากเครื่องส่งสัญญาณดังกล่าวจะต้องผ่านการสมัครใช้บริการจากบริษัทหรือหน่วยงาน

ผมขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ โดยสามี-ภรรยาคู่หนึ่งกำลังขี่ม้าในเส้นทางบนเขา ม้าของภรรยาเกิดลื่นกลิ้งตกลงจากเขาประมาณ 100 เมตร ลงไปในช่องแคบของภูเขาด้านล่าง จากการตกกระแทกรุนแรง ทำให้กระดูกขาของผู้เป็นภรรยาหัก ในขณะที่ม้ากลับไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก โชคดีที่สามีมีสติและใช้ PLB ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือและส่งข้อความแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น โดยแจ้งพิกัดได้ตรงกับจุดเกิดเหตุ เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยของเราจึงสามารถใช้ข้อมูลนี้ เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็วและนำภรรยาของเขาซึ่งบาดเจ็บสาหัสออกจากที่เกิดเหตุ และนำส่งไปยังโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย


เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นสูง ประจำอากาศยานกู้ภัย

ขอแนะนำเพิ่มเติมในการขอความช่วยเหลือจากภายนอก เพื่อดึงความสนใจจากภายนอก มาที่ีจุดเกิดเหตุ โดยใช้วิธีต่อไปนี้

  1. ไฟกระพริบส่งสัญญาณ หรือ strobe light
  2. พลุสัญญาณ
  3. ควันสี
  4. ระเบิดควัน แสเงตำแหน่งที่อยู่ของผู้ประสบภัยจากระยะไกล
  5. กระจกส่องขอความช่วยเหลือ Signal Mirror
  6. นกหวีด
  7. ใช้ใบไม้หรือวัสดุจากธรรมชาติ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนของอากาศยาน สะกดคำว่า ช่วยด้วย หรือ “Help” บนพื้นที่โล่งๆ เพื่อให้อากาศยานกู้ภัยมองเห็นได้ในระหว่างทำการค้นหา

การพยายามอยู่ใกล้กับอากาศยานประสบเหตุ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือความช่วยเหลือที่ระดมเข้ามา มักจะพยายามค้นหาจุดที่อากาศยานตกก่อนเสมอ เนื่องจากเป็นจุดสังเกตุหลักของพวกเขา และการออกนอกพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย อาจจะยิ่งเพิ่มความอันตรายขึ้นได้

หากคุณเลือกที่จะเดินเท้าออกไปขอความช่วยเหลือ ควรเป็นกรณีที่อาจไม่มีใครเข้ามาค้นหาในจุดนั้นได้จริงๆ หรือต้องจำเป็นที่จะต้องออกจากจุดเกิดเหตุอย่างไม่มีทางเลือก เช่น น้ำป่าหลาก, ไฟป่า, มีที่อยู่ของสัตว์อันตรายอยู่ใกล้เคียง ฯ กรณีนี้คุณจะต้องมั่นใจกับทิศทางที่จะเดินไป, สภาพร่างกายต้องพร้อม, และดูว่ามีอะไรติดตัวไปบ้าง

อาหาร – ให้คิดเสมอว่าการดำรงชีพหลังเกิดเหตุ อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วันขึ้นไป อย่างไรก็ตามน้ำหนักในการบรรทุกและพื้นที่วางสิ่งของบนอากาศยานส่วนใหญ่มีข้อจำกัด ทำให้ต้องคิดว่าคุณจะเลือกนำอะไรที่จำเป็นไปด้วยก่อนทำการบิน อาหารจะช่วยให้เรามีแรงในขณะรอความช่วยเหลือ จำไว้ว่าเรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช้เตรียมตัวพร้อมไปตั้งแค้มป์

ชุดอุปกรณ์ดำรงชีพ แบบมาตรฐาน Basic Survival Kit

ผมจะมีกระเป๋ายังชีพส่วนตัว ติดไปทำงานด้วยทุกครั้งเวลาออกปฏิบัติงานกับอากาศยาน เนื่องจากผมเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพประจำเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย อุปกรณ์ยังชีพของผมจะเป็นส่วนเพิ่มเติม จากชุดประจำตัวของเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานที่ผมใส่ ซึ่งบนตัวเสื้อจะมีอุปกรณ์เช่น ไฟฉาย, มีดพก ฯ อยู่ด้วยเช่นกัน ส่วนในเป้ยังชีพของผม จะมีของต่อไปนี้

  • เสื้อคลุม Jacket
  • หมวก Hat
  • ถุงมือ Gloves
  • ผ้าห่ม Multiple use rag
  • น้ำและอุปกรณ์กรองน้ำขนาดพกพา เช่น เม็ดสารละลายทำความสะอาดน้ำ, หลอดกรองน้ำ ฯ
  • อาหารแท่ง Power Bars เช่น ข้าวกรอบผสมถั่ว, ซีเรียลอัดแท่ง ฯ
  • อุปกรณ์ส่องสว่างต่างๆ เช่น ไฟฉายพกพา, ไฟฉายคาดศีรษะ และแบตเตอรี่สำรอง , แท่งเคมีเรืองแสง light sticks
  • มีดพก Knife
  • ชุดเครื่องมือแบบพกพา Multi-tool
  • เข็มทิศ Compass และเข็มทิศขนาดเล็ก
  • เครื่องบอกพิกัดดาวเทียม GPS
  • แผนที่ที่เกี่ยวข้องในบริเวณที่ทำงาน
  • กระจกส่งสัญญาณของความช่วยเหลือ Signal Mirror
  • แท่งแมกนีเซียมจุดไฟ Magnesium Fire starter
  • แถบเชือกกว้าง 1 นิ้ว ยาว 5 เมตร
  • คาราบิเนอร์ 2 ตัว
ตัวอย่างอุปกรณ์ในเป้ยังชีพ

สิ่งที่ควรจะมีเพิ่มเติม คือ วิทยุมือถือสำหรับช่องความถี่อากาศยาน Air Band Radio, โทรศัพท์สัญญาณดาวเทียม Sat phone, ถุงเก็บน้ำ, ถุงพลาสติก, เทปกาว, เชือกร่ม paracord, แผ่นฟรอยด์อลูมิเนียม, เส้นลวด, ยากันแดด, ยากันแมลง, ยากันยุง ฯ

ในกระเป๋าปฐมพยาบาลส่วนตัวของผม จะมีสายรัดห้ามเลือด, ผ้าพันแผลทางยุทธวิธี, ผ้าก็อซ, ผ้ายืด, พลาสเตอร์ปิดแผลหลายๆขนาด, ครีมฆ่าเชื้อ, กรรไกร, วาสลีนก็อซ, ถุงมือการแพทย์ 2 คู่ และยาที่จำเป็นอื่นๆที่ผมอาจต้องใช้เพียงพอสำหรับ 3 วัน , แว่นสายตา

สำหรับนักบินพลเรือนหรือหน่วยงานราชการ ความจำเป็นในการใส่ชุดยังชีพ ที่มีอุปกรณ์ซึ่งครอบคลุมเรื่องน้ำดื่ม, การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ, การก่อไฟ มีความสำคัญมาก เพราะอย่าลืมว่า…คุณอาจจะมีเวลาน้อยมากหรือไม่มีเวลาเลย ที่จะออกจากอากาศยานประสบเหตุ โดยที่ไม่มีเวลานำอุปกรณ์อะไรไปได้ นอกจากของที่มีอยู่บนตัวคุณแล้วเท่านั้น

กำหนดจิต เพื่อดำรงชีวิตให้รอด Survival Mindset

จากที่ผมแนะนำมานี้ พูดถึงหลายเรื่องด้วยกัน การอยู่รอดและถูกค้นพบจากเหตุอากาศยานประสบเหตุ คุณจะต้องมีทัศนคติที่ดีในทางบวก ต้องคิดและเตรียมตัวก่อนหน้าเหตุการณ์จะเกิด ใช้เวลาคิดบนพื้นดินก่อนขึ้นทำการบิน สังเกตุ และวางแผน และไม่ทำอะไรโดยไม่ไตร่ตรอง พยายามอย่ากลัวและตื่นตระหนก


ผู้เขียน – เดน่า วีแลนเดอร์, หัวหน้าชุดเจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นสูง ประจำเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ของ LA County Sheriff เมืองลอสเองเจอลิส ประสบการณ์การทำงานตำแหน่ง Air Rescue Crewman Paramedic กว่า 30 ปี

Product Categories