ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ในการทำงานเชือกกู้ภัย

ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ในการทำงานเชือกกู้ภัย

การทำงานด้านเชือกกู้ภัย Rope Rescue เป็นงานที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะด้าน เพื่อจัดการความปลอดภัย ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งอาจตามมาด้วยการบาดเจ็บและอันตรายถึงชีวิต. ปัจจัยเสี่ยงมากมายรายล้อม ทั้งความไม่เป็นใจในสภาพอากาศ แสงสลัวมัวมืดบดบังวิสัยทัศน์ มองไปทางไหนก็ไม่ชัดเจน ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ยังไม่วายต้องใช้ความเร็วไปช่วยคนให้พ้นจากอันตราย แล้วจะทำอย่างไรให้ความเสี่ยง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้.

Rope Rescue Highline
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเตรียมผู้บาดเจ็บบนเปล ให้พร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายไปกับเชือกในมุมสูง

การทำงานกู้ภัย ในบางสถานการณ์ต้องการทางลัด ซึ่งวัดกันด้วยเวลาและนาทีชีวิต ต้องคิดและตัดสินใจแบบทันใดทันที ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในสายงานการใช้เชือกเข้าถึงพื้นที่ Rope Access ซึ่งวัดกันที่ความปลอดภัย ทำทุกอย่างตามแผนที่วางไว้ในทุกขั้นตอน ต้องมีแผนงานที่ชัดก่อนการอนุมัติให้ทำ โดยผู้ปฏิบัติงานต้องจัดการความเสี่ยง โดยใส่รายละเอียดและวิธีแก้ไข ไว้ในแผนซึ่งทำไว้ล่วงหน้า. การทำแผนก่อนเริ่มงานต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ของเจ้าหน้าที่ระดับซีเนียร์ ต้องเคลียร์พื้นที่หน้างาน รวมถึงจัดการอันตรายให้ได้มากที่สุด และงานต้องไม่สะดุดหรือหยุดจากความเสียหาย เพราะจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ให้เจ้าของงาน.

สมาคมการฝึกอบรมการปฏิบัติงานบนพื้นที่สูง ด้วยเทคนิคการใช้เชือกนานาชาติ Industrial Rope Access Trade Association (IRATA) มีรายงานการทำงานและความปลอดภัยรายปี Work And Safety Analysis ซึ่งเอกสารนี้ได้รวบรวมสถิติของการบาดเจ็บ และอุบัติเหตุจากการทำงานด้านเชือกเอาไว้ จากสถิติที่ได้มุ่งไปที่สาเหตุหลัก ซึ่งมาจากความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน “Human error” หนึ่งในวิธีช่วยแก้ไข ให้เกิดข้อผิดพลาดได้น้อย คือการใช้ความบ่อยเข้าตอกย้ำ ทำซ้ำๆจนชำนาญ แต่ต้องไม่ลืมว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ และต้องไม่เผลอมั่นใจจนกลายเป็นความประมาท.

ความเสี่ยงเหล่านี้ มีอะไรเกี่ยวข้องที่เจ้าหน้าที่เชือกกู้ภัยควรระวังอย่างไร? การกู้ภัยโดยใช้ระบบเชือก Rope Rescue แม้จะไม่ใช่อาชีพที่คิดกำไร ไปกับการช่วยชีวิต หากจะคิดเป็นความถี่ ก็ไม่ได้มีบ่อยครั้ง เมื่อเทียบกับการรับทำงานบนที่สูง โดยใช้เทคนิคด้านเชือกอยู่เป็นประจำ แต่ด้วยความถี่ที่น้อยครั้ง จึงต้องระวังอุบัติเหตุให้มาก หากลักษณะงานเป็นเช่นนี้ จะมีวิธีไหน ที่ช่วยให้เสี่ยงได้น้อยลง?

เริ่มต้นจากการทำงานเป็นทีม การเลือกหัวหน้าชุด มักเป็นสมาชิกผู้มีประสบการณ์สูงสุด เป็นทั้งหัวหน้าชุดและเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัย เน้นใช้ความสามารถจัดการปัญหาในภาพรวม แทนการทำหน้าที่ใดหน้าที่เดียว เช่น หัวหน้าทีมเชือกกู้ภัย ไม่ควรไปติดตั้งระบบเชือกเสียเอง สมาชิกที่มีประสบการณ์อันดับสองรองลงมา ควรเป็นหัวหน้าชุดติดตั้งระบบเชือก โดยเป็นผู้เลือกและกำหนดทิศทาง รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ติดตั้งและยึดโยงสามขา เพื่อสร้างจุดยึดเชือกมุมสูง ให้มั่นคงปลอดภัย ส่วนสมาชิกที่ประสบการณ์น้อย ควรจะคอยรับคำสั่ง และรับฟังหัวหน้าทีม. การเลือกตำแหน่งงานตามความชำนาญของสมาชิก จะช่วยสร้างประสบการณ์และสอนงานเป็นระดับชั้น ผลักดันให้เกิดการปรับและยอมรับการแก้ไข หาแนวทางที่ปลอดภัย เพื่อใช้ลดข้อผิดพลาด เมื่อการทำงานช่วยสร้างประสบการณ์ให้สมาชิกแต่ละคนจนพอเพียง จึงเกิดการขยับปรับตำแหน่ง ไปตามความรับผิดชอบ เป็นการเปิดทางและสร้างสมาชิกใหม่ขึ้นในทีมอีกด้วย.

การตรวจเช็คอุปกรณ์ให้คู่บัดดี้หรือเพื่อนร่วมทีม ต้องทำก่อนเริ่มทำงานจริง เป็นการลดอันตรายที่ผู้ทำงานอาจมองไม่เห็น Human Error ซึ่งมีโอกาสเกิดได้หากทำงานเพียงลำพัง.

ในขณะที่การทำทีมลักษณะนี้ อาจได้ผลดีเยี่ยมในการอบรม แต่ในเหตุการณ์จริงของการค้นหาและกู้ภัย (SAR) อาจไม่เป็นไปตามโครงสร้างที่วางไว้ อาจต้องเพิ่มและกระจายขยายงานออกไปให้สมาชิกทุกคน สามารถเข้าถึงเป้าหมายในที่เกิดเหตุได้เอง โดยเน้นใช้เพียงอุปกรณ์ประจำกาย ที่ไม่ใหญ่เทอะทะ และไม่เป็นภาระให้ทีมต้องคอยช่วยเหลือ. เจ้าหน้าที่กู้ภัยคนแรกในที่เกิดเหตุ ต้องเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยปลอดภัย และช่วยปฐมพยาบาลได้ทันที.

นอกเหนือจากการใช้ประสบการณ์ ช่วยป้องกันข้อผิดพลาด ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยง จากการลดทอนและหาอุปกรณ์มาทดแทน ข้อดีของอุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เจาะจงผลิตมาใช้เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความพลาด อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน มาจากการผลิตคิดค้นอย่างรอบคอบ และผ่านการทดสอบจนมั่นใจ ย่อมปลอดภัยกว่าการใช้อุปกรณ์ชั่วคราวเท่าที่หาได้.

เชือกที่มีปลายเป็นห่วงเย็บสำเร็จ จะช่วยลดโอกาส ในการเกิดข้อผิดพลาดของการผูกเงื่อน และยังเป็นเชือกที่แข็งแรง กว่าเชือกที่ผูกเงื่อนอีกด้วย.

สิ่งหนึ่งที่เราแนะนำให้หลีกเลี่ยง คือการทำระบบเชือก ที่อาศัยความทนทานจากการผูกเงื่อนเชือกเป็นหลัก มักกลายเป็นเงื่อนไขที่ไม่แน่นอน เพราะคงเป็นเรื่องยาก ที่จะรับรอง การผูกเงื่อนอย่างถูกต้อง ของทุกคนในทุกครั้ง ยิ่งต้องระวังสำหรับผู้ที่ยังผูกเงื่อนไม่ชำนาญ แต่ต้องทำงานที่รีบร้อนกดดัน และต้องเดิมพันด้วยชีวิต เรื่องน่าคิดอีกประการหนึ่ง ถึงแม้จะพันหรือผูกเงื่อนอย่างถูกต้อง ก็ยังมีปัจจัยอีกมากมาย ให้เงื่อนเชือกที่เลือกใช้ อาจไม่ให้ผลตามที่คาด โดยเฉพาะการทำเงื่อนจับเชือก friction hitches ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอดีที่ลงตัว ระหว่างเส้นใยที่ใช้ และความใหญ่ของเส้นผ่าศูนย์กลางเชือกหลัก ผลเสียที่เกิดขึ้นได้ อาจทำให้งานล่าช้า แย่ยิ่งกว่าอาจกลายเป็นอันตรายที่แก้ไขได้ยากกว่าเดิม หากหลีกเลี่ยงได้ ควรเลือกให้อุปกรณ์จับเชือกที่เหมาะสม.

ความปลอดภัย ทดแทนกันไม่ได้

ในขณะที่อุปกรณ์อีกมากมาย อาจหาอะไรทดแทนได้ เช่น การเลือกใช้เชือกพรูสิค แทนมือจับสำหรับไต่ขึ้นเชือก ไม่ควรเลือกให้มือใหม่เริ่มหัดใช้งาน แต่ควรเป็นผู้ชำนาญที่จัดการปัญหาได้ ก่อนจะคิดหาสิ่งไหนมาใช้แทน ต้องตรวจสอบและทดสอบจนมั่นใจ ว่าวิธีที่เลือกใช้จะปลอดภัยและได้ผลจริง. ด้วยธรรมชาติของงานกู้ภัย ซึ่งไม่มีใครสามารถกำหนดได้ จะเหลือเวลาสักแค่ไหน ให้ทำงานได้รวดเร็วปลอดภัยในที่เกิดเหตุ. หรือจะเลือกใช้อุปกรณ์ เพื่อช่วยลดทอนเวลา และใช้พลังไปค้นหาและเข้าถึงตัวผู้ประสบภัย ที่ไม่อาจรอคอยได้นาน?

การลดความเสี่ยงในงานด้านเชือกกู้ภัย เป็นการใช้วิธีคิดการแบบองค์รวม มาจากอุปกรณ์ที่ดี, การฝึกอบรม ด้วยวิธีการที่ดีมีประสิทธิภาพ และการมีทีมงานที่ดี หากทำเช่นนี้ได้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ลดความกังวลบนความเหนื่อยล้า มุ่งความสนใจไปที่เป้าหมาย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ดีที่สุด.

ขอขอบคุณ VTC Training สำหรับภาพและข้อมูล จากประสบการณ์การทำงานด้านเชือกกู้ภัย ที่ให้เราใช้ประกอบในบทความนี้.


หมวดหมู่สินค้า