ผลทดสอบความเสียหายบนตัวเชือก โดยการวัดแรงดึงผ่านอุปกรณ์จับเชือกแบบต่างๆ
อุปกรณ์บีบจับเชือก (Rope grab) ซึ่งใช้ในการทำงานบนที่สูงหรือการช่วยเหลือกู้ภัย ส่วนมากออกแบบการยึดจับและล็อคเปลือก หรือปลอกนอกของเชือกออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ 1.อุปกรณ์จับเชือกที่ใช้ “แคมชนิดร่องหยัก” โดยส่วนที่นูนจากร่องบนตัวแคม จะดันและกดไปบนปลอกเชือก และ 2.อุปกรณ์จับเชือกที่ใช้ “แคมแบบฟันแหลม” โดยฟันที่ยื่นออกมาจากแคม จะทำหน้าที่กดและจิกไปบนปลอกเชือก เพื่อยึดเกาะและจับเชือกให้แน่นและลึกยิ่งขึ้น.

ด้วยรูปร่างและความแหลมของ “ฟัน” บนอุปกรณ์จับเชือกนี่เอง เมื่อมองจากรูปทรงทางกายภาพแล้ว โอกาสในการตะกุย, จิกหรือดึงเส้นใยที่ปลอกเชือกให้ชำรุดเสียหาย อาจเกิดขึ้นได้ชัดเจน และดูจะรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับแคมแบบร่องหยัก แม้จะใช้แรงดึงที่ไม่สูงมากก็ตาม ด้วยความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นนี่เอง มาตรฐาน NFPA 1983 ว่าด้วยการใช้เชือกและอุปกรณ์ สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือฉุกเฉิน จึงได้กำหนดแนวทางการใช้อุปกรณ์บีบจับหรือล็อคเชือก (Rope grab) โดยระบุให้ต้องสามารถรับแรงดึงได้ 5 กิโลนิวตันเป็นอย่างน้อย สำหรับเชือกและอุปกรณ์ซึ่งจัดอยู่ในประเภท technical use (อุปกรณ์สำหรับรับน้ำหนักบุคคลคนเดียว) เช่น เชือกหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานบนที่สูงทั่วไป โดยจะต้องไม่ทำความเสียหาย กับตัวเชือกหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง.
สิ่งที่เราพบอยู่เสมอคือ การกะประมาณและความกังวลหรือความกลัวส่วนบุคคล จนกลายเป็นข้อถกเถียง ที่มาจากพื้นฐานของความรู้สึก Feeling จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราพยายามค้นหาคำตอบ ด้วยการทดสอบภาคสนามในบริบทการใช้งานในชีวิตประจำวัน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง Fact ให้เห็นด้วยประเด็นการทดสอบ “ภายใต้แรงดึงที่เท่ากัน อุปกรณ์จับเชือกแบบแคมฟันแหลม จะทำอันตรายต่อปลอกเชือกได้เร็วกว่า อุปกรณ์จับเชือกแบบแคมชนิดร่องหยัก จริงหรือไม่”
ในการทดสอบ เราใช้อุปกรณ์จับเชือก 3 ชนิด คือ อุปกรณ์จับเชือกที่ใช้แคมแบบฟันแหลม Climbing Technology Simple Ascender, Climbing Technology Roll’n’Lock อุปกรณ์จับเชือกแบบแคมชนิดร่องหยัก และ ISC Mini Rope Grab อุปกรณ์จับเชือกแบบแคมชนิดร่องหยัก ซึ่งแต่ละชนิดจะถูกดึงด้วยแรงดึงที่เท่ากันทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเราเลือกทดสอบอุปกรณ์จับเชือก ที่มีร่องฟันแหลมและถี่ อย่าง Petzl Tibloc รุ่นแรก เป็นการทดสอบสุดท้าย.
เราเลือกใช้เชือก Teufelberger รุ่น Platinum PES/PA ขนาด 10.5 มม. เป็นเชือกหลักในการทดสอบ และเป็นเชือกสภาพดีที่เราใช้ในการฝึก เพื่อผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับเชือกที่ใช้ในการโรยตัว หรือป้องกันการตกในการทำงานบนที่สูงหรือกู้ภัยทั่วไป. ซึ่งเชือก Platinum เป็นเชือกที่มีโครงสร้างพิเศษ ที่เส้นใยบนปลอกเชือก ถูกถักผสานเข้าภายในแกนในของเชือก ทำให้เกิดสมดุลของเชือกทั้งเส้น รวมถึงอัตราการขยับตัวของทั้งปลอกและแกนในเชือกที่สม่ำเสมอ. โดยการทดสอบเกิดขึ้นกลางแจ้ง วัดค่าอุณหภูมิภายนอกได้ 39 องศาเซลเซียส ตามลักษณะการทำงานกลางแดด ในวันที่อากาศร้อนของประเทศไทย. โดยเราเพิ่มเติมการทดสอบด้วยเชือก Teufelberger รุ่น Patron ซึ่งเป็นเชือกโรยตัวและทำงานบนที่สูง ที่มีโครงสร้างแบบมาตรฐานที่ไม่ถูกถักผสานกัน เพื่อเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นระหว่างเชือกทั้ง 2 รุ่น. ภายหลังการทดสอบแรงดึงที่เท่ากัน วัดระยะห่างของปลอกเชือกที่ขาด พบว่าเชือก Teufelberger รุ่น Platinum มีระยะการขาดของปลอกเชือกทื่สันว่าเชือกรุ่น Patron.
เราทดสอบด้วยการเน้นบริบทการรับแรงดึงต่ำอย่างต่อเนื่อง ใช้แรงดึงที่สม่ำเสมออย่างช้าๆ จนปลอกเชือกขาด ไม่รวมการทดสอบรับแรงกระชากแบบกะทันหัน shock load เราบันทึกค่าแรงดึงแต่ละครั้ง ด้วยเครื่องทดสอบแรงดึงเชือก Rock Exotica Enforcer Load Cell โดยได้ค่าเฉลี่ยจากการทดสอบทั้งหมด ดังนี้:
Climbing Technology Simple Ascender: 6.78 kN, 7.09 kN, 7.12 kN
ISC Mini Rope Grab: 7.43 kN, 7.64 kN, 7.81 kN
Climbing Technology Roll’N’Lock: 6.28 kN, 6.69 kN, 7.50 kN
เราเพิ่มเติมการทดสอบอุปกรณ์จับเชือกขนาดเล็ก ที่มีฟันแหลมและถี่อย่าง Petzl Tibloc รุ่นแรก โดยวัดค่าแรงดึง ถึงจุดที่เชือกขาดได้ 7.54 กิโลนิวตัน.
ซึ่งทุกครั้งที่ทดสอบ ปลอกเชือกจะถูกบีบหรือดึงจนขาด อุปกรณ์ทุกชิ้นถูกตรวจเช็คความเสียหาย และไม่มีอุปกรณ์โลหะชิ้นใด ที่ได้รับความสียหาย หรือมีร่องรอยของการสึกหรอ.
ข้อสังเกตจากการทดสอบ:
- อุปกรณ์จับเชือกทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ สามารถรับแรงดึงได้เกินกว่า 5 กิโลนิวตัน ตามค่ามาตรฐานการรับแรงดึงที่ NFPA กำหนด.
- อุปกรณ์จับเชือกทุกชนิด ทำหน้าที่บีบจับเชือก ในลักษณะที่คล้ายกัน ในขณะที่ทดสอบ.
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนตัวเชือก ภายหลังจากการทดสอบ สังเกตได้ว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน.
จากการทดสอบอุปกรณ์จับเชือกแต่ละชนิดของเรา ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า อุปกรณ์จับเชือกที่ใช้ “แคมแบบฟันแหลม” ไม่ได้ตัดหรือทำให้เชือกขาดเร็วกว่า หรืออันตรายกว่า อุปกรณ์จับเชือกที่ใช้ “แคมแบบร่องหยัก” อย่างที่หลายคนกังวล.